แหล่งความรู้สำหรับผู้ที่สนใจ

Upskill/Reskill สาย Tech

Cloud & Network | Cybersecurity | Programming
Lifelong Learning | Career Development

Career Development

AI Prompt Engineer อาชีพใหม่ในอนาคต?

จากบทความแรกของ blog นี้เราเคยได้พูดถึงไว้ว่างานด้าน AI กำลังจะเข้ามาและเป็นกลุ่มที่จะเติบโตในอนาคตอันใกล้ และตำแหน่งงานหนึ่งที่เริ่มเป็นที่พูดถึงกันในวงการก็คือ AI Prompt Engineer ส่วนตัวผมทำงานค่อนข้างห่างไกลกับ filed นี้ แต่ก็พอทราบและมีความสนใจอยู่บ้าง แต่ก็เหมือนกับอีกหลายๆคนที่ยังไม่ค่อยแน่ใจว่าจะ reskill เข้าสู่วงการ AI แล้วไปเป็น Prompt Engineer กับเขาบ้างจะดีหรือเปล่า

ที่จริงบทความที่พูดถึง Prompt Engineer ก็มีค่อนข้างหลากหลาย และคงให้ความกระจ่างกับคนที่สนใจได้ระดับหนึ่ง ส่วนในมุมของผมเอง ผมขอนำเสนอในแบบที่ผมถนัด ก็คือไปค้นดูว่าตามสถิติจริง ๆ ว่าจะมีการจ้างงานในตำแหน่งชื่อนี้หรือใกล้เคียงมากน้อยแค่ไหน บริษัทแนวไหนที่ต้องการให้มีตำแหน่งงานประเภทนี้บ้าง เขาต้องการคนที่มีคุณสมบัติอย่างไร และ job description หรืองานที่ถูกคาดหวังให้รับผิดชอบเป็นอย่างไร

Prompt Engineer ทำอะไร?

ผมได้ลองสืบค้นข้อมูลจากแหล่งรับสมัครงานใน US เช่น indeed.com, Glassdoor.com,linkedin.com ได้ข้อมูลมาว่า งานที่มีชื่อตำแหน่งตรงหรือใกล้เคียงกับ AI Prompt Engineer ยังมีไม่มากนัก อยู่ในหลักไม่เกินหลักสิบ เกือบทั้งหมดเป็นบริษัท tech เช่น digital platform provider หรือบริษัท startup ที่เน้นการพัฒนาด้าน AI โดยเฉพาะ

หน้าที่หลักๆ ของ Prompt Engineer ตามที่มีระบุกันในเว็บสมัครงาน ถ้าเป็นงานที่ตรงกับชื่อตำแหน่งเลยก็คือเป็นผู้ออกแบบและพัฒนา AI prompts หรือคำสั่งหรือคำถามที่ AI สามารถเข้าใจได้และตอบสนองได้ดี ส่วนงานหลักอื่นๆ ก็ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทนั้นมีความต้องการด้านไหนเพิ่มเติมอีก เช่น งานด้านการวิจัย พัฒนา และปรับปรุงโมเดลของ AI งานด้านการพัฒนาเทคนิคสำหรับการเทรนหรือสอนโมเดล ซึ่งจริง ๆ แล้ว แต่ละบริษัทก็อาจจะตั้งชื่อตำแหน่งอื่นๆ เช่น Generative AI Engineer, Generative AI Developer แต่ลักษณะงานก็จะบวกกับงาน Prompt Engineer ไปด้วยก็ได้ นอกจากนี้ ก็จะมีงานจำพวกการประยุกต์ใช้เครื่องมือเพื่อสร้างชิ้นงานไปเลย เช่นงานด้าน multimedia เป็นต้น

คุณสมบัติของคนที่จะเป็น Prompt Engineer?

ในกลุ่มบริษัทที่พัฒนาด้าน AI แน่นอนว่าต้องการคนที่มีความรู้เชิงลึกและประสบการณ์ในด้านต่างๆ ได้แก่ Natural Language Processing (NLP) และ Large Language Models (LLM) มีทักษะด้านการเขียนโปรแกรม เช่น Python หรือ R หรือมีประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวข้อง เช่น AI Engineer หรือ NLP Engineer มาก่อน เคยพัฒนา AI model หรือทำงานเกี่ยวกับ NLP และมีความรู้เกี่ยวกับ ML framework เช่น TensorFlow, PyTorch, Keras

ส่วนกลุ่มที่ทำงานเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ AI ในธุรกิจ เช่น งานด้าน multimedia ก็อาจจะต้องการคนที่มีประสบการณ์ด้านการใช้เครื่องมือที่เกี่ยวกับ AI เช่น ChatGPT, MidJourney, Adobe Creative Suite, DALL-E เป็นต้น

งานสายนี้จะมีแพร่หลายทั่วไปไหม?

ที่เรารู้กันแน่ๆ ก็คือการมี generative AI tools เช่น ChatGPT ได้สร้างให้เกิดตำแหน่งงาน Prompt Engineer ขึ้นมาแล้ว และจากสถานการณ์ปัจจุบัน ก็มีเป็นไปได้ว่าความต้องการคนที่มีความสามารถในการออกแบบและพัฒนา AI prompts ไม่ว่าจะเป็นชื่อตำแหน่งอะไร ก็น่าจะมีให้เห็นกันมากขึ้นในช่วงระยะเวลาอันใกล้ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วทำให้ในระยะยาวก็ยังมีความไม่แน่นอนสูง ตามที่บทความจากข่าวใน CNA ซึ่งอ้างอิงจาก Financial Times ได้กล่าวไว้ว่า หาก AI interface มีการพัฒนาและก้าวหน้ามากกว่านี้ อาชีพ Prompt Engineer ก็อาจจะไม่จำเป็นอีกต่อไปก็ได้

แหล่งการเรียนรู้ด้าน AI

Prompt Engineer จะมาไหมไม่รู้ แต่ที่เรารู้กันแน่ ๆ แล้วก็คือ AI นั้นอาจจะทำให้บางอาชีพต้องหายไปในไม่ช้า อาจฟังดูน่ากลัวแต่ก็อยากให้ทุกคนมองว่ามันเป็นโอกาสเช่นกันที่เราจะได้พัฒนาตนเองและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เริ่มต้นการเรียนรู้ตั้งแต่วันนี้ เพื่ออนาคตที่ดีกว่าด้วยกันครับ ในไทยเองก็มีหลายสถาบันที่เป็นแหล่งเรียนรู้เฉพาะทางด้าน AI ตามที่ผมลองค้นหาดูก็มี Learn AI Online Learning Platform

ของต่างประเทศก็มี deeplearning.ai ที่มี Course ฟรีอยู่ ตัวอย่างเช่น ChatGPT Prompt Engineering for Developers

หรือจะเป็นระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอกเลยก็เห็นมีเปิดที่ สจพ. ลาดกระบัง หรือหากไม่ได้ต้องการเรียนเต็มหลักสูตร ทางสถาบันเองก็มีทางเลือกเป็นหลักสูตรอบรมทางวิชาการให้ โดยเราจะสามารถเข้าเรียนพร้อมกับนักศึกษาในหลักสูตร AI ในแต่ละภาคการศึกษาได้ และเข้าใจว่า เมื่อเรียนผ่านหลักสูตรแล้ว เราจะสามารถเอาผลการเรียนไปเทียบโอนหน่วยกิตในการศึกษาต่อระดับปริญญาโทกับทางคณะได้อีกด้วยครับ ทั้งนี้ เงื่อนไขต่างๆ สามารถสอบถามทางคณะได้โดยตรง เนื่องจากอาจมีการเปลี่ยนแปลงจากวันที่ผมเขียนบทความนี้ไปแล้วครับ


ผมมีความเชื่อว่าคนเรามีศักยภาพในตัวเองและพัฒนาได้เสมอหากพร้อมเปิดใจที่จะเปลี่ยนแปลง และหวังว่าบทความที่แชร์นี้จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจและเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านทุกท่านที่กำลังมองหาเส้นทางในการ upskill/reskill

#Sakol #CCIE (29493) #SolutionsArchitect (AWS-Professional, Azure-Expert) #CISSP (1035526) #TUXSAMBA (Business Innovation) #PhDStudent (Cybersecurity)

Connect me on LinkedIn